ชาติภูมิ
สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร มีนามเดิมว่า ทับ มีฉายาว่า พุทฺธสิริ ท่านเกิด เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๔๙ ในรัชกาลที่ ๑ ณ. หมู่บ้านสกัดน้ำมัน ปากคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันออก ใกล้วัดเทวราชกุญชร กรุงเทพมหานคร โยมบิดาชื่อ อ่อน ผู้คนนิยมเรียกว่า "ท่านอาจารย์อ่อน" โยมมารดาชื่อ คง ท่านเป็นบุตรคนโตในตระกูลนี้ กล่าวกันว่า ครอบครัวของท่าน เป็นชาวกรุงเก่า แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐ ก็ได้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ
|
|
การศึกษาเมื่อปฐมวัย
ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อท่านมีอายุ ๙ ขวบ ได้เข้าเรียนอักษรสมัย อยู่ที่วัดภคินีนาถ แล้วต่อมาได้เข้าเรียนบาลี โดยเรียนสูตรมูลกัจจายน์ อยู่ที่วัดมหาธาตุ คือ ได้เรียนบาลี ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บวช. ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระยศ เป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพอพระราชหฤทัยในตัวท่าน จึงทรงให้อุปการะ ในการเล่าเรียนศึกษา พระปริยัติธรรมของท่าน ทรงจัดสอบความรู้ ผู้ที่เรียนสูตรเรียนมูลที่วังเนืองๆ ท่านได้ไปสอบถวาย โปรดทรงประทานรางวัล จึงได้ทรงเมตตาในตัวท่านแต่นั้นมา.
|
|
การบรรพชาอุปสมบท
ท่านได้บรรพชาเมื่ออายุเท่าไร ยังไม่ปรากฎหลักฐาน ทราบแต่ว่าท่านได้บรรพชา เป็นสามเณร ที่วัดสังเวชวิศยาราม บางลำภู ครั้นได้บรรพชา เป็นสามเณรแล้ว รัชกาลที่ ๓ ในสมัยที่ยังดำรงพระยศ เป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงโปรดให้ท่านไปอย ู่ที่วัดราชโอรส อันเป็นวัดที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ครั้นเมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว คุณโยมของท่าน จึงให้ท่านมาอุปสมบท ที่วัดเทวราชกุญชร อันเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านเดิม. ท่านจึงได้อุปสมบท เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่วัดเทวราชกุญชร โดยมีพระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมฬีโลกยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวินัยมุนี (คง) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชแล้ว ก็ได้อยู่ในสำนักพระธรรมวิโรจน์ ที่วัดราชาธิวาส ตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ไปอยู่และศึกษาเล่าเรียน ในสำนักอาจารย์นพรัตน์ ที่วัดไทรทอง (วัดเบญจบพิตร) บ้าง ที่พระมหาเกื้อ วัดชนะสงครามบ้างเนือง ๆ |
|
สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค
ลุถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๗๙ เมื่อท่านมีพรรษา ๑๑ อายุ ๓๑ ปี ยังเป็นพระอันดับอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะที่ทรงผนวช) เสด็จไปครองวัดบวรนิเวศวิหาร และในสมัยนั้น พระสงฆ์วัดราชาธิวาส มีทั้งพระมหานิกาย และพระธรรมยุตอยู่ด้วยกัน แต่อธิบดีสงฆ์เป็นมหานิกาย จึงได้โปรดให้ท่านอยู่ครองฝ่ายธรรมยุต ที่วัดราชาธิวาส ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ที่วัดบวรนิเวศวิหารเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดให้ท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรม ในสนามหลวง ครั้งแรก ท่านแปลได้ถึง ๗ ประโยค แล้วท่านไม่แปลต่อ รอมาอีกระยะหนึ่งจึงเข้าแปลได้อีก ๒ ประโยค รวมเป็น ๙ ประโยค หลังจากท่านเป็นเปรียญ ๙ อยู่ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงแต่งตั้งท่าน เป็นพระราชาคณะ ที่ "พระอริยมุนี " และท่านคงอยู่ที่วัดราชาธิวาสต่อมา |
|
เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดโสมนัสวิหาร
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลาผนวช และขึ้นครองราชย์ ในปี ๒๓๙๔ แล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารขึ้น ด้วยพระราชทรัพย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี อัครมเหสีของพระองค์ ได้พระราชทานนามว่า "วัดโสมนัสวิหาร" โดยทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๖ ทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชั้นราชวรวิหาร ในเนื้อที่ ๓๑ ไร่เศษ ครั้นสิ่งก่อสร้างสำเร็จลงบ้าง พอเป็นที่อาศัยอยู่จำพรรษา ของภิกษุสามเณรได้บ้างแล้ว ใน พ.ศ. ๒๓๙๙ พระองค์ก็ได้ทรงอาราธนา สมเด็จพระวันรัต ในสมัยที่ยังเป็นพระอริยมุนี จากวัดราชาธิวาส พร้อมด้วยคณะสงฆ์ประมาณ ๔๐ รูป โดยขบวนแห่ทางเรือ ให้มาอยู่ครองวัดโสมนัสวิหาร ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ของวัดนี้ ท่านปกครองวัดโสมนัสวิหารมา จนกระทั่งได้ถึงมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๔
|